1. ทันตกรรมเด็กแรกเกิด ถึง 2 ปี ทารกบางคนเกิดมาพร้อมกับควาดผิดปกติในช่องปาก เช่น ภาวะลิ้นติด หรือริมฝีปากติด (tongue ties, lip ties) ซึ่งอาจทำให้ดูดนมได้ไม่ดี หรือสร้างความเจ็บปวดให้กับมารดาระหว่างให้นมได้ ซึ่งหากได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ก็จะทำให้ทารกดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกับน้ำหนัก และการเจริญเติบโตของน้องๆ ในอนาคตได้
คุณควรพาบุตรหลานมาพบทันตกรรมเด็ก ก่อนหรือเมื่อฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกินขวบปีแรก โดยทั่วไปฟันซี่แรกจะขึ้นเมื่อทารกมีอายุได้ 6-8 เดือน การรักษาความสะอาดในช่วงก่อนฟันขึ้นทำให้ง่ายๆ ด้วยการใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ เช็ดบริเวณเหงือกหลังจากดูดนมอิ่มแล้ว เมื่อฟันเริ่มขึ้นคุณสามารถใช้แปรงสีฟันขนนุ่มขนาดเล็กแปรงเบาๆ ได้
ในช่วงแรกนี้เด็กๆ จะเริ่มเปลี่ยนจากการดูดนมอย่างเดียวไปเป็นอาหารอ่อนๆ คุณควรเตรียมอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลีกเลี่ยงอาหาร หรือขนมที่มีน้ำตาลสูง เพราะอาจส่งผลต่อฟันรวมถึงสุขภาพโดยรวมของทารก
ในช่วง 2 ขวบปีแรกของชีวิต เด็กๆ ยังเดินได้ไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ การบาดเจ็บเกี่ยวกับฟันจึงเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย คุณควรรีบพาเด็กๆ มาพบทันตกรรมเด็กในทันที เนื่องจากหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อฟันแท้ในอนาคตได้
2. ทันตกรรมเด็ก ในวัยเด็กเล็ก (3-5 ปี) ในช่วงนี้ฟันน้ำนมจะทยอยขึ้นมาครบทุกซี่ จากสถิติเราพบว่าเกือบครึ่งของเด็กในวัยอนุบาลเริ่มมีฟันผุอย่างน้อย 1-2 ตำแหน่งก่อนจะเริ่มเข้าเรียน เราจึงอยากเน้นย้ำความสำคัญของการแปรงฟัน และการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ให้กับเด็กๆ
แนะนำให้ใช้ยาสีฟันสำหรับเด็กที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ซึ่งมีความเข้มข้นพอเหมาะ บีบไม่ต้องมาก ประมาณเท่าเม็ดถั่วต่อการแปรงฟันหนึ่งครั้งก็พอ ในช่วงนี้เราอยากให้คุณเริ่มใช้ไหมขัดฟันให้กับเด็กๆ ด้วย แม้ว่าเด็กในวัยนี้มักเริ่มอยากทำอะไรด้วยตัวเอง แต่คุณก็ควรช่วยแปรงฟันให้ หมั่นกำชับ และตรวจสอบว่าบุตรหลานของคุณได้ทำความสะอาดช่องปากอย่างมีประสิทธิภาพ และสม่ำเสมอหรือไม่
พฤติกรรมดูดนิ้ว หรือจุกขวดนม ควรได้รับการแก้ไขเมื่อเข้าถึงวัยนี้ เพราะอาจส่งผลถึงการเจริญเติบโตของฟัน กระดูกใบหน้า และขากรรไกรได้ การบาดเจ็บต่อฟันพบได้เยอะเช่นกัน หากเกิดอุบัติเหตุคุณควรรีบพาเด็กๆ มาพบทันตกรรมเด็ก กรณีที่ฟันน้ำนมหลุดก่อนเวลาที่ฟันแท้จะขึ้น คุณหมออาจจะต้องใส่เครื่องมือพิเศษเพื่อไม่ให้ฟันซี่ข้างเคียงล้มลงมาจนทำให้ฟันแท้ไม่สามารถขึ้นได้
3. ทันตกรรมเด็ก ในวัยประถมถึงมัธยม (6-11 ปี) ในวัยนี้ฟันแท้จะเริ่มขึ้นมาทดแทนฟันน้ำนมที่หลุดไป สามารถเปลี่ยนมาใช้ยาสีฟันสูตรของผู้ใหญ่ได้ และคุณสามารถให้เด็กๆ รับผิดชอบการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันด้วยตัวเอง โดยคุณยังต้องคอยตรวจสอบเป็นระยะได้ การที่บุตรหลานของคุณไปโรงเรียน จึงทำให้ควบคุมเรื่องอาหารและขนมลำบากมากขึ้น หากไม่ดูแลเรื่องการทำความสะอาดให้ดีก็จะทำให้ฟันผุง่าย การเคลือบหลุมร่องฟันเป็นการรักษาสำคัญที่จะมีส่วนช่วยป้องกันฟันผุได้
ในบางกรณีหากทันตกรรมเด็กตรวจพบการเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติและอาจส่งผลกระทบต่อฟันซี่อื่นๆ คุณหมออาจแนะนำให้เด็กๆ เริ่มจัดฟันเร็วกว่าปกติ เพื่อแก้ไขและลดโอกาสที่ฟันจะเคลื่อนตัวไปยังตำแหน่งที่ทำให้การจัดฟันในอนาคตมีความซับซ้อนมากขึ้น หากบุตรหลานของคุณชื่นชอบการเล่นกีฬา คุณควรพามาทำเฝือกใส่ฟัน และแนะนำให้ใส่ขณะเล่นกีฬา เพื่อป้องกันหรือลดการบาดเจ็บต่อฟัน รวมถึงเนื้อเยื่อข้างเคียงในกรณีมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น
4. ทันตกรรมเด็ก ในเด็กวัยรุ่น (12-16 ปี) เมื่อถึงวัยรุ่น ส่วนใหญ่ฟันน้ำนมจะหลุดออกไปเรียบร้อย และฟันแท้จะขึ้นทั้งหมดแล้ว (ยกเว้นฟันกรามบางซี่) ฟันชุดนี้เป็นฟันที่จะอยู่กับบุตรหลานของคุณไปตลอดชีวิต จึงควรได้รับการดูแลอย่างดี ในวัยยนี้คุณจะเริ่มไม่สามารถควบคุมประเภทของอาหาร และการทำความสะอาดช่องปากของเด็กๆ ได้เหมือนเมื่อก่อน การเคลือบหลุมร่องฟันจึงยังมีความสำคัญโดยเฉพาะในฟันกรามซี่ที่เพิ่งขึ้น
วัยนี้เป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดในการเริ่มจัดฟัน เพราะกระดูกขากรรไกรยังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต การจัดฟันสามารถแก้ไขการสบฟันที่ผิดปกติมากๆ ได้ ซึ่งหากรอจนถึงวัยผู้ใหญ่อาจทำได้ยากมากขึ้น หรืออาจมีความจำเป็นต้องจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด กีฬาที่บุตรหลานของคุณเล่น อาจมีการกระทบกระทั่งที่สูงขึ้น ผาดโผนมากขึ้น การใช้เฝือกสบฟันเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจึงยิ่งมีความสำคัญ ในช่วงปีท้ายๆ ของวัยรุ่น เด็กๆ อาจเริ่มประสบปัญหาของฟันคุดได้เช่นกัน https://www.willdentdentalclinic.com/our-services/pediatric-dentistry/